อุรุมชี, 19 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ อำเภอหลุนไถ แคว้นปกครองตนเองปาอินกัวเหลิง กลุ่มชาติพันธุ์มองโกล เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้ปลูก "ต้นปอปลาร์" หรือ "ต้นหูหยาง" มากกว่า 40,000 ต้นในทะเลทรายทากลิมากันเพื่อป้องกันและควบคุมการแปรสภาพเป็นทะเลทราย
ต้นปอปลาร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ต้นไม้ฮีโร่แห่งทะเลทราย" เนื่องจากทนต่ออากาศร้อน ความเป็นด่าง และความแห้งแล้งได้ดี โดยอำเภอหลุนไถเสาะหาพื้นที่เพาะปลูกต้นปอปลาร์อย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ "พื้นที่สีเขียว" บนขอบทะเลทรายขยายตัวต่อเนื่อง
ม่ายถีเร่ออีมู่ เคอเร่อมู่ รองเลขาธิการพรรคและผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าประจำอำเภอหลุนไถ เผยว่าอัตราการรอดชีวิตของต้นอ่อนปอปลาร์ในธรรมชาติ อยู่ระหว่างร้อยละ 3-5 โดยทางโครงการได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างระบบน้ำหยด (Drip irrigation) และการบูรณาการระหว่างน้ำ-ปุ๋ย การทำฟิล์มคลุมดิน (รักษาความชื้น) จนอัตราการรอดของต้นปอปลาร์ในระยะเวลา 3 ปีสามารถสูงกว่าร้อยละ 65
อนึ่ง อำเภอหลุนไถตั้งอยู่ริมขอบทางตอนเหนือของทะเลทรายทากลิมากัน และแนวป่าต้นปอปลาร์ตามธรรมชาติตามลุ่มแม่น้ำทาริมในพื้นที่ ถือเป็นแนวป้องกันทางนิเวศที่สำคัญของโอเอซิสในท้องถิ่น